ทุกวันนี้การเขียนงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเรียนจบปริญญาโทและเอก

หลายคนมีความกังวลไจว่าไม่รู้จะเริ่มเขียนอย่างไรดี โดยเฉพาะนักวิจัยหน้าใหม่ ที่จำเป็นต้องเขียนบทความวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ และมีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่มากนั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การเขียนดูดีขึ้นมาบ้าง นอกจากผลงานวิจัยที่ดี นั่นก็คือทักษะการใช้ Tense ของผู้เขียนนั่นเองครับ ถึงแม้ว่า Tense ภาษาอังกฤษจะมี 12 tense ก็ตาม แต่การเขียนจริง ๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด ทุก Tense ก็ได้ มันขึ้นอยู่กับกาลเวลาที่เกิดขึ้นในการทำงานวิจัยครับ **คนที่ยังไม่รู้จัก 12 tense ควรไปทำความรู้จักก่อนนะครับ ค่อยมาอ่านต่อ **

ผมก็คนหนึ่งที่ประสบปัญหาการเขียนบทความวิจัยมาก่อน (ตอนนี้ก็ยังไม่เก่งนะครับ 555+) แต่ได้ไปเจอคำแนะนำการเขียนของคุณ Totsaporn Suwannaruang เห็นว่าดี เลยอยากจะมาเขียนสรุปให้ทุกคนนำไปใช้ดูครับ โดยบทความชุดนี้จะมีหลายตอนนะครับ ว่างๆ ผมจะทยอยมาเขียนเรื่อย ๆ ครับ

ผมจะขอแนะนำการใช้งาน Tense ของภาษาอังกฤษบางช่วงเท่านั้นนะครับ แต่เอาจริง ๆ Tense ที่ใช้ในบทความวิจัยอาจจะใช้ไม่กี่ Tense หรอกครับ ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียดเยอะไป โดยเน้นงานเขียนบทความวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีโครงสร้างการเล่าเรื่องคล้าย ๆ กัน ตามลำดับหัวข้อตั้งแต่ชื่อเรื่องจนถึงผลสรุป ซึ่งถ้าเราเข้าใจช่วงกาลเวลาในการทำงานงานวิจัย (Research Timeline) ของเราแล้ว มันก็จะง่ายต่อการเขียนมาก ๆ เลยครับในแต่ละหัวข้อ และการเขียนก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การเขียนของแต่ละคนด้วยนะครับ อาจจะไม่เหมือนกัน

หัวข้อที่จะใช้เขียนส่วนมากก็จะประกอบด้วยหัวข้อดังนี้
1. Title
2. Abstract
3. Keywords
4. Introduction
5. Experiment / Methodology
6. Result & Discussion
7. Conclusions
8. Acknowledgment
9. References

ผมจะไล่ตามหัวข้อไปเรื่อย ๆ นะครับ เริ่มกันเลย
1. Title

ชื่อเรื่องงานวิจัยพยายามเขียนให้ชักเจนว่าจะทำอะไรอย่างไรหรือด้วยวิธีอะไร เป็นต้น ขึ้นอยู่ว่าผู้เขียนจะเน้นนำเสนออะไร จะสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 15 คำ ในความรู้สึกผมชื่อที่ยาวถึง 3 บรรทัด ถ้าผู้เขียนไม่ดังจริง ๆ หรือบทความนั้นผู้อ่านสนใจจริงๆ บทความนั้นจะดูเป็นบทความที่เข้าใจยากขึ้นมาทันที เพราะผู้อ่านอาจจะไม่เข้าดูเนท้อความบทความข้างในเลย และพยายามตั้ง title ให้เป็นกลุ่มคำนาม จะดูเป็นทางการมากขึ้น

2. Abstract

ส่วนนี้ส่วนใหญ่จะต้องเขียนสรุปให้ได้ 250-300 คำ โดยมีเนื้อหาหลัก ๆ อยู่ 5 ส่วน คือ

1) Introduction/Background information  (Present simple tense/Present perfect tense)
2) Objectives (Present simple tense/Past simple tense)
3) Experiment/ Methodology (Past simple tense)
4) Results (Past simple tense/Present simple tense)
5) Conclusions (Present simple tense/tentative verbs/modal)

ส่วนมากจะใช้ Tense เป็น Present/Past simple tense ก็เพียงพอแล้ว อาจจะมีทั้ง Active (S + V1) หรือ Active (S + V2) และ Passive voice (S + was/were + V3) ขึ้นอยู่กับบริบทของผู้เขียนว่าเป็นแบบไหน
* ในการใช้ passive voice ไม่ควรใช้ติด ๆ กันบ่อย ใน Abstract อาจจะมีซักไม่เกิน 2-3 ประโยคพอครับ ส่วน Present perfect tense อาจจะใช้ช่วง introduction ครั้งเดียวพอครับ

++Example++

The use of mobile phones to access the Internet has increased recently. (Present perfect tense)
The mobile application was developed by Android and iOS. (Passive)
The objective of this article is ….  แบบ Present simple (Active)
The purpose of this research was to investigate ….   แบบ Past simple (Active)
This article/study showed that ….  (Active)
The result presented a high performance in software ability. (Active)

*ช่วงบอกการแสดงผลวิจัยอาจจะมีการใช้ verb ที่แตกต่างไป ซึ่งอาจจะมีเปลี่ยนใช้คำอื่น ๆ ได้ ลองหาดู เช่น showed, displayed, revealed, represented, provided, depicted, illustrated เป็นต้น

*ในส่วนของการอภิปรายผลหรือ Discussion นั้น การใช้ can/could + V1 แสดงว่าผู้เขียนมีความมั่นใจในผลการทดลองแค่ระดับหนึ่งเท่านั้นหรือยังไม่มั่นใจเท่าไหร่ แต่ถ้าใช้ Present simple (S + V1) / Past Simple (S + V2) เลยแสดงว่าผู้เขียนมั่นใจผลการทดลองนั้นมาก ๆ ก็แล้วแต่ว่าจะใช้แบบไหนครับ ตามความรู้สึกในผลการทดลองของเราเองเลยครับ

This application can suggest attraction places to each user with different choices. (คนเขียนไม่ค่อยมั่นใจ)
This application suggests attraction places to each user with different choices. (คนเขียนมั่นใจสุดๆ)

3. Keywords

ส่วนนี้ควรแสดง Keywords ตำนามอย่างน้อย 3 คำ โดยเป็นคำที่เป็นสากล อาจจะเป็นชื่อวิธีการ และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทความเรา คำเหล่านี้จะถูกใช้เป็นคำสำคัญในการสืบค้นบนอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเป็นคำที่อยู่ในชื่อ Title ของงานวิจัยก็ได้

 

นี่เป็นเพียงแค่ไอเดียนะครับ จริง ๆ มันจะเขียนแบบไหนก็ได้ ขอให้คนอ่านงานวิจัยเรารู้เรื่องตามลำดับที่ต้องการนำเสนอ 
ส่วนของตอนที่ 1 ขอเอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ มาเจอกันตอนต่อไปเร็วๆนี้นะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในการเริ่มต้น
** ผิดพลาดประการใดโปรดชี้แนะได้นะครับ

 

อ้างอิง http://vup.stou.ac.th/source/cscamnon/002AlisaAcademicWriting/unit2/u2_4/02_1.html

By admin